น้ำมันไฮโดรลิค Hydraulic Oil l น้ำมันอุตสาหกรรม

น้ำมันไฮดรอลิค Hydrualic Oil

ระบบไฮดรอลิค เป็นระบบที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในโรงงานอุตสาหกรรมเกือบจะทุกประเภท ซึ่งใช้น้ำมันไฮดรอลิคทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเปลี่ยนแปลงพลังงานของของไหลให้เป็นพลังงานกล ซึ่งจะทำให้เครื่องจักรสามารถเคลื่อนที่ในแนวตรง หรือในแนวหมุนได้ดีมากเมื่อเปรียบเทียบกับระบบอื่นๆ ง่ายต่อการควบคุม และสามารถปรับเปลี่ยนความเร็วของกระบอกสูบหรือมอเตอร์ไฮดรอลิคได้ง่าย

ในระบบไฮดรอลิคนั้นจะประกอบด้วยส่วนประกอบพื้นฐาน 6 ชนิด ดังนี้

1. ถังพักน้ำมันไฮดรอลิค ทำหน้าที่เก็บน้ำมันไฮดรอลิคชั่วคราว ปรับสภาพน้ำมันให้สะอาดขึ้นและมีอุณหภูมิพอเหมาะที่จะนำไปใช้งานอีกครั้ง

2. ปั๊มไฮดรอลิค ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นพลังงานของการไหล

3. วาล์วควบคุมชนิดต่างๆ ทำหน้าที่ควบคุมทิศทาง ปริมาณการไหล และความดันในระบบไฮดรอลิค ให้เป็นไปตามค่าที่กำหนดไว้ในการทำงานแต่ละประเภท

4. อุปกรณ์ทำงาน ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานการของไหลให้เป็นพลังงานกล เช่น กระบอกสูบ

5. ท่อไฮดรอลิค ทำหน้าที่เป็นทางไหลของน้ำมันไฮดรอลิคในระบบ และ

6. น้ำมันไฮดรอลิค ที่ทำหน้าที่เป็นหัวใจของการทำงานในระบบไฮดรอลิค

ซึ่งส่วนประกอบที่สำคัญในระบบไฮดรอลิค และถือว่าเป็นหัวใจของระบบไฮดรอลิค ก็คือ น้ำมันไฮดรอลิค ซึ่งหน้าที่หลักๆ ของน้ำมันไฮดรอลิคมี 4 ประการ ดังนี้

หน้าที่ของน้ำมันไฮดรอลิค

• การส่งผ่านพลังงาน น้ำมันไฮดรอลิคจะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ในการถ่ายทอดพลังงานจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งในระบบไฮดรอลิค เพื่อเปลี่ยนแปลงพลังงานของการไหลให้เป็นพลังงานกล

• การหล่อลื่น น้ำมันไฮดรอลิคจะทำหน้าที่เป็นตัวช่วยในการหล่อลื่น ระบายความร้อน และลดแรงเสียดทานระหว่างชิ้นส่วนต่างๆ ที่สัมผัสกัน และการป้องกันการสึกหรอของเครื่องจักร โดยฟิล์มของน้ำมันไฮดรอลิคจะช่วยหล่อลื่นและลดการเสียดสีของผิวสัมผัสระหว่างแกนกระบอกกับผนังกระบอก เพื่อช่วยให้การเคลื่อนที่ของชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆในระบบเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น

• การซีลกันรั่ว น้ำมันไฮดรอลิคจะทำหน้าที่เป็นซีลป้องกันการรั่วซึมภายในให้เกิดน้อยที่สุดเมื่อมีความดันเกิดขึ้นในระบบ เพราะว่าในระบบไฮดรอลิคอุปกรณ์ส่วนมากจะถูกออกแบบให้มีการซีลแบบโลหะต่อโลหะ การทำหน้าที่เป็นตัวซีลนี้ จะขึ้นอยู่กับความหนืดของน้ำมันไฮดรอลิคแต่ละชนิดด้วย

• การระบายความร้อน ในขณะที่ระบบไฮดรอลิคทำงานจะเกิดความร้อนขึ้น น้ำมันไฮดรอลิคจะช่วยระบายความร้อนของระบบได้ ซึ่งจะถ่ายเทความร้อนที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ต่างๆ ไหลลงสู่ถังพัก

             จะเห็นได้ว่าน้ำมันไฮดรอลิคนั้นสำคัญมากต่อระบบไฮดรอลิค ดังนั้นถ้าเลือกใช้น้ำมันไฮดรอลิคผิดประเภทหรือความหนืดไม่เหมาะสมกับอุปกรณ์ในระบบ อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ นอกจากนี้ ในขณะใช้งานต้องดูแลให้น้ำมันไฮดรอลิคอยู่ในสภาพที่ดีเสมอ และเปลี่ยนถ่ายใหม่ตามรอบที่กำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งตรวจสอบระดับน้ำมันไฮดรอลิคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละระบบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การทำงานทำงานของระบบไฮดรอลิคมีประสิทธิภาพ

 

คุณสมบัติของน้ำมันไฮดรอลิค

  • ความหนืดพอเหมาะ และดัชนีความหนืดสูง น้ำมันไฮดรอลิกที่ดีต้องมีค่าความหนืดคงที่แม้ว่าอุณหภูมิในการทำงานจะเปลี่ยนแปลงก็ตาม นอกจากนี้ความหนืดของน้ำมันไฮดรอลิกยังมีผลต่อการหล่อลื่นระหว่างผิวสัมผัสของอุปกรณ์ต่างๆ ถ้าความหนืดมากจะป้องกันการสึกหรอได้ดี  แต่ถ้ามีความหนืดมากเกินไปก็ไม่เป็นผลดีต่อการหล่อลื่น เพราะทำให้การเคลื่อนตัวของน้ำมันไหลไปมาไม่สะดวก
  • มีจุดข้นแข็งต่ำ (Pour Point) น้ำมันไฮดรอลิกควรมีจุดข้นแข็งต่ำกว่าอุณหภูมิที่ระบบไฮดรอลิกทำงาน ซึ่งจุดข้นแข็งนี้จะมีปัญหาก็ต่อเมื่อระบบไฮดรอลิกต้องทำงานในที่ที่อุณหภูมิต่ำกว่าปกติ
  • คุณภาพของน้ำมันจะต้องไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงถึงแม้อุณหภูมิในการทำงานจะสูง นั่นคือต้องมีความคงที่มากแม้ว่าจะต้องเจอกับความร้อนมากแค่ไหนก็ตาม
  • มีคุณภาพการหล่อลื่นที่ดี และไม่ทำปฏิกิริยากับยาง ซีล ปะเก็น และสี
  • ต้านทานการเกิดออกซิเดชั่นได้ดี
  • ต้านทานการเกิดสนิม ช่วยป้องกันการกัดกร่อนโลหะ เพราะชิ้นส่วนต่างๆ ในระบบไฮดรอลิกส่วนใหญ่ล้วนทำด้วยโลหะ ดังนั้นน้ำมันไฮดรอลิกต้องไม่มีฤทธิ์ของความเป็นกรดที่อาจทำปฏิกิริยาที่เป็นอันตรายต่ออุปกรณ์ได้
  • ต้านทานการเกิดฟอง
  • มีความสามารถในการแยกตัวจากน้ำได้ดี
  • มีความสามารถในการอัดตัวต่ำ โดยน้ำมันไฮดรอลิกต้องไม่ยุบตัวตามความดัน
  • ไม่จับตัวเป็นก้อนหรือยางเหนียว

 

ชนิดของน้ำมันไฮดรอลิค

น้ำมันปิโตรเลียม

  • น้ำมันไฮดรอลิกทั่วไป (HYDRAULIC AW)
  • น้ำมันเทอร์ไบน์
  • น้ำมันไฮดรอลิกชนิดพิเศษ (HYDRAULIC HVI)
  • น้ำมันเครื่องเบอร์ SAE 10W หรือ SAE 30
Visitors: 907,768